เทศบาลตำบลปากน้ำฉวาง มีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นหน่วยงานบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.๒๕๓๗
ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ประกาศจัดตั้งเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล โดยมีประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศทั่วไป เล่มที่ ๑๑๓ ตอนพิเศษ ๕๒ ง ลงวันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๙
คำว่า “ฉวาง” น่าจะมาจากคำว่า “ขวาง” ดังที่ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช (ระเบียงตีนธาตุ)
ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้กล่าวถึงการทำระเบียงล้อมพระบรมธาตุเจดีย์ และอีกตอนหนึ่งมีความว่า “ขุนศรีพลแปดอ้อมแสนเมืองขวางเจ้าเมืองสระสี่ห้อง” และอีกตอนหนึ่งมีความว่า “ขุนศรีพลแปดอ้อมแสนเมืองขวางเอาเชงทำกุฎีวัดคูหา วัดฉวาง วัดลำพูน เอามามุงพระทำศาลา” ต่อมาคำนี้กลายเป็นเสียง “ฉวาง” และใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ล่วงมาถึง พ.ศ. 2354 ในแผ่นดินรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นศักดิ์พลเสพย์ กราบทูลพระกรุณาว่า ข้าหลวงกรมการเมืองนครขาดอยู่ มิครบตามตำแหน่งจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งเสริมให้ครบตามตำแหน่ง ณ วันจันทร์ เดือน 12 ขึ้น 5 ค่ำ ปีมะเมีย ศรีศก พ.ศ. 2354 ว่าเมืองขวาง หรือฉวาง มีฐานะเป็น”แขวงที่ฉวางท่าชี” ประกอบด้วยที่และอำเภอ คือแขวงที่ท่าชี มีหมื่นเพชรธานี นายที่ฉวางท่าชี ที่พดชมโรที่กะเที่ยงที่ต่อขนุน ศักดินา 800 ฝ่ายขวา มีขุนอินทบุรี เป็นรองที่ฉวางท่าชี ศักดินา 400 มีที่แขวงที่ และอำเภอ ซึ่งขึ้นกับแขวงนี้คือ อำเภอท่าชี อำเภอวัดขรม อำเภอน้ำพุ และแขวงที่ฉวางท่าชี มีผู้ปกครองถือศักดินาคนละ 200 เท่ากัน ได้แก่หมื่นไชยบุรี หมื่นแสนบุรี หมื่นจิตรบุรี หมื่นยมบุรี และพันอินทร์ตามลำดับ
อบต.ฉวาง
ครั้นถึงพ.ศ. 2440 กระทรวงมหาดไทยได้มอบหมายให้หลวงพำนักนิคมคาม นายอำเภอทุ่งสงสมัยนั้นไปตรวจราชการในพื้นที่บ้านจันดี ทานพอ กระเปียด กะทูน พิปูน ลำพูน ละอาย และช้างกลาง
ได้พิจารณาเห็นว่า ท้องที่ดังกล่าวสมควรจัดตั้งเป็นอำเภอได้ และควรยุบรวมบางเมืองลงแล้วตั้งเป็นตำบลขึ้นใหม่ เพื่อให้สะดวกแก่การปกครองดูแลราษฎร ตามนโยบายปฏิรูปการปกครองหัวเมือง ด้วยเหตุนี้ กระทรวงมหาดไทยจึงให้ยุบเมืองกะเปียด เมืองพิปูน เมืองหลักช้าง เมืองละอาย และเมืองฉวางท่าชี
หลังปรับเป็นตำบล ตามชื่อเดิมตั้งเป็น”อำเภอฉวาง”